2.1 โครงสร้างของโลกเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทางเคมี

2.1 โครงสร้างของโลกเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทางเคมี
เมื่อต้นศตวรรษนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองเพื่อให้ทราบถึงองค์ประกอบภายในของโลกในหลาย ๆ วิธีการ เช่นการวัดความร้อนภายในโลก การวัดคลื่นการสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงการวิเคราะห์องค์ประกอบของสะเก็ดดาวที่มีองค์ประกอบคล้ายคลึงกับโลก โครงสร้างของโลกเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบทางเคมีจะสามารถแบ่งโลกได้เป็นสามชั้นคือ core, mantle และ crust (ภาพที่ 2.3)

ภาพที่ 2.3 ส่วนต่างๆของโลกเมื่อแบ่งโดยใช้องค์ประกอบทางเคมี (ซ้าย)และกายภาพ (ขวา)
ที่มา: Garrison (2007)

(1) core เป็นชั้นในสุด มีความหนานับจากจุดศูนย์กลางโลกประมาณ 3,743 กิโลเมตร โดยมีเหล็กและนิกเกิล เป็นองค์ประกอบหลัก (90%) นอกจากนี้ยังมีซิลิกอนซัลเฟอร์ และโลหะหนักอื่น ๆ เล็กน้อย ความหนาแน่นประมาณ 13 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ชั้นนี้มีมวล 31.5 % และปริมาตร 16 % ของโลกทั้งหมด และยังแบ่งเป็นสองชั้นย่อยคือชั้นใน inner core และชั้นนอก outer core

(2) mantle อยู่ถัดจากแกนในของโลกออกไป มีความหนาประมาณ 2,865 กิโลเมตร อยู่ลึกลงไปจากผิวโลก 65-2,900 กิโลเมตรความหนาแน่นประมาณ 4.5 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ชั้นนี้เป็นชั้นของหินหลอมเหลวประกอบด้วยอัตราส่วนของ ออกซิเจน:แมกนีเซียม:ซิลิกอน ประมาณ 4:2:1 และมีความร้อนมหาศาลอันเนื่องมาจากการการสลายตัวของสารกัมมันตภาพรังสี ประกอบกับมีความดันสูงทำให้หินภายในหลอมเหลวเป็นหินหนืด (magma) ชั้นนี้มีมวลสาร 68.1 % และปริมาตร 83 % ของโลกทั้งหมด

(3) crust เป็นชั้นของผิวเปลือกโลกชั้นนอกสุดเป็นชั้นหินแข็งมีมวลสารเพียง0.4% ของมวลสารทั้งหมดของโลก และปริมาณน้อยกว่า 1% ของปริมาตรทั้งหมดของโลก มีความหนาแน่นประมาณ 2.5-3.3 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร แบ่งออกเป็น
เปลือกโลกทวีป (continental crust ) เป็นชั้นหินที่รองรับส่วนที่เป็นพื้นทวีปของโลก มีความหนาแน่นเฉลี่ยประมาณ 2.65 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร จากการศึกษาส่วนประกอบของของหินทางเคมีพบว่าส่วนใหญ่เป็นหินแกรนิต (granite) มีสีอ่อนหรือจาง ๆ จัดเป็นหินที่มีความหนาแน่นน้อยเรียกว่า sial ซึ่งส่วนประกอบสำคัญคือซิลิกอนและอะลูมิเนียม ชั้นนี้มีความหนาแตกต่างกันไปอยู่ในระหว่าง 5-65 กิโลเมตร

เปลือกโลกมหาสมุทร (oceanic crust) เป็นชั้นหินรองรับส่วนที่เป็นมหาสมุทร มีความหนาแน่นโดยเฉลี่ยประมาณ 3.0 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ส่วนใหญ่เป็นหินบะซอลท์ (basalt) ซึ่งมีสีเข้มหรือสีดำ เป็นหินที่มีความหนาแน่นสูงเรียกว่า sima เพราะส่วนประกอบที่สำคัญคือซิลิกอนและแมกนีเซียม จึงเป็นหินค่อนข้างหนัก ชั้นหินบะซอลท์ของส่วนเปลือกโลกมหาสมุทรอาจแผ่ออกไปรองรับส่วนที่เป็นหินแกรนิตของเปลือกโลกทวีป เช่นในบางแห่งพบว่าภูเขาไฟวางตัวอยู่บนหินบะซอลท์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Kroobannok Education News

สนุก! คอมพิวเตอร์