3.1 ยุคอารยธรรมโบราณและยุคประวัติศาสตร์บริเวณรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เมื่อประชากรมนุษย์มีมากขึ้นจนทรัพยากรที่มีอยู่ในที่เดิมไม่เพียงพอแก่ความต้องการก็เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่ไปตั้งถิ่นฐานยังบริเวณอื่นที่มีความสมบูรณ์มากกว่า
เชื่อกันว่ามนุษย์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกที่ทวีปแอฟริกาตะวันออกแล้วมีการอพยพไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกเริ่มจากตะวันออกใกล้ ยุโรปตอนกลางและแพร่ขยายข้ามไปยังเอเชียกลางจนถึงทะเลแบริ่ง หลังจากนั้นก็ข้ามแผ่นดินและแผ่นน้ำแข็งผ่านทะเลแบริ่งเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือและสิ้นสุดที่ปลายทวีปอเมริกาใต้เมื่อประมาณ 11,000 ปีที่ผ่านมาในที่สุด ในขบวนการอพยพย้ายถิ่นนั้นในระยะเริ่มต้นส่วนใหญ่จะไปโดยทางบก และต่อมาบางส่วนก็เดินทางด้วยเรือหรือแพ เราจึงพบว่ามนุษย์มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรโดยเฉพาะมหาสมุทรแปซิฟิก |
มนุษย์มักตั้งถิ่นฐานบริเวณที่มีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต และพบว่าดินบริเวณใกล้แหล่งน้ำจะมีความอุดมสมบูรณ์เพาะปลูกได้ดีกว่าบริเวณอื่น
จึงมีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้กันมากเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำเรื่อยลงมาถึงชายฝั่งทะเล
โดยคนในชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งจะมีความสามารถในการต่อเรือหรือแพ
และมีความชำนาญในการเดินเรือชายฝั่ง
ทำให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมีความเจริญมากกว่าชุมชนที่อาศัยลึกเข้าในแผ่นดิน
แต่เดิมนั้นชาวอียิปต์ได้เริ่มติดต่อค้าขายกันในแม่น้ำไนล์กันมาเป็นเวลานานแล้ว
แต่หลักฐานชิ้นแรกที่พบในโลกที่ยืนยันว่ามนุษย์มีเริ่มเดินเรือไปในทะเลหรือมหาสมุทรด้วยวัตถุประสงค์ที่แน่นอนก็คือ
บันทึกเกี่ยวกับการค้าขายของชุมชนที่อาศัยอยู่ในทะเลเมดิเตอเรเนียน
โดยชาวฟินิเชียนซึ่งมีความเจริญทางอารยธรรมโบราณจนมาล่มสลายลงในปี 1,200 ก่อนคริสตกาลด้วยเหตุแผ่นดินไหวและสงครามภายใน
ชนเผ่านี้เป็นชาติแรกที่เดินเรือข้ามช่องแคบยิบรอลต้า
ไปค้าขายได้ถึงประเทศอังกฤษในปัจจุบันและชายฝั่งทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา
โดยเรือที่มีขนาดเล็กและไม่แข็งแรงมากนัก
ภาพที่ 1.1 ภาพเรือจำลองของกรีกโบราณ เมื่อ
500 ปีก่อนคริสตกาล
ซึ่งใช้ในการเดินเรือภายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และออกไปสำรวจมหาสมุทรแอตแลนติก
ที่มา: Garrison (2007)
ที่มา: Garrison (2007)
ในระหว่างปี 900-700 ก่อนคริสตกาล
ชาวกรีกโบราณได้เริ่มเดินเรือเพื่อทำการสำรวจมหาสมุทรโดยออกจากทะเลเมดิเตอเรเนียนไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกโดยใช้เรือไม้ขับเคลื่อนโดยใช้ใบเรือหรือพาย
(ภาพที่ 1.1) นักเดินเรือกรีกโบราณในรุ่นต่อมาได้สังเกตว่ากระแสน้ำในช่องแคบยิบรอลต้าเดินทางในแนวทิศเหนือไปยังทิศใต้
ซึ่งก่อนหน้านี้คนสมัยโบราณเชื่อว่ามีเพียงน้ำในแม่น้ำเท่านั้นที่จะสามารถเห็นการเดินทางของกระแสน้ำได้
ส่วนทะเลนั้นกว้างใหญ่เกินไปที่จะสังเกตเห็นการเดินทางของกระแสน้ำ
ชาวกรีกโบราณเรียกแม่น้ำว่า okeanos ส่วนคำว่ามหาสมุทรซึ่งเราใช้คำว่า
ocean ในภาษาอังกฤษนั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า oceanus
เมื่อการติดต่อค้าขายกันระหว่างชาติต่าง ๆ
โดยใช้เส้นทางทางทะเลแพร่หลายมากขึ้น นักเดินเรือก็ได้เริ่มบันทึกเส้นทางที่สามารถเดินเรือได้สะดวก
ย่นระยะเวลาและมีความปลอดภัยสูง รวมถึงระบุสิ่งต่างๆที่เป็นประโยชน์ลงในแผนที่
เช่น ตำแหน่งของหินโสโครกในเส้นทางที่จะเข้าสู่ท่าเรือ
ที่หมายบนบกที่ใช้สังเกตหรืออ้างอิง ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง
ทิศทางของกระแสน้ำ และต่อมาในราวปี 800 ก่อนคริสตกาลนักเดินเรือแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนได้ทำแผนที่เดินเรือฉบับแรก
ภาษาอังกฤษใช้คำว่า chart ต่างจากแผนที่บนบก (map) ซึ่งจะให้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับแผ่นดินเป็นหลัก
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ กลุ่มชนที่มีอารยธรรมที่เจริญแล้วอื่นๆเช่นจีนก็ได้เริ่มใช้ความรู้ทางวิศวกรรมในการจัดการระบบเส้นทางการเดินเรือทางน้ำในแผ่นดินซึ่งบางส่วนติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก
ทำให้การคมนาคมทางน้ำจากแผ่นดินออกสู่ทะเลเป็นไปได้อย่างสะดวก
ส่วนชาวโพลีนีเซียซึ่งเดิมตั้งถิ่นฐานบริเวณเกาะต่าง ๆ ตามชายฝั่งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันมาตั้งแต่ 3000 ปีก่อนคริสตกาลก็มีความสามารถในการเดินเรือชายฝั่งระหว่างเกาะ
บางกลุ่มก็สามารถเดินเรือข้ามมหาสมุทรไปตั้งถิ่นฐานบริเวณหมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกโดยยังไม่มีการพัฒนาความรู้ในการสร้างแผนที่เดินเรือ
แต่อาศัยตำแหน่งตำแหน่งของดวงดาวและดวงอาทิตย์เป็นหลักในการเดินเรือ
เมื่อกล่าวโดยสรุป
องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลของมนุษย์ในระยะเริ่มต้นเกิดจาก ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์และการติดต่อค้าขายระหว่างชนชาติทำให้มีการเดินทางไปในทะเลหรือมหาสมุทร
ในระยะแรกอาศัยเพียงข้อมูลทางดาราศาสตร์และการสังเกตในการกำหนดทิศทางและต่อมาได้มีการพัฒนาความรู้เพื่อสร้างเรือที่มีประสิทธิภาพ
แผนที่เดินเรือที่ถูกต้องเที่ยงตรง เพื่อนำมาใช้ในการเดินทางโดยทางเรือ
ความก้าวหน้าในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลในสมัยโบราณในระยะเวลาต่อมาได้เริ่มต้นที่หอสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย (the library of Alexandria) ซึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ 300
ปีก่อนคริสตกาล โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชกษัตริย์ชาวกรีก
ห้องสมุดนี้ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก โดยเป็นที่รวบรวมเอกสารโบราณ ปูมการเดินทางและรายละเอียดต่างของชนชาติที่ไปทำการค้าเช่น
ลักษณะทางภูมิประเทศ ประชากร ศิลปะ แหล่งท่องเที่ยว
หรือโอกาสในการทำการค้าของชนชาตินั้น ๆ รายละเอียดต่าง ๆ ได้ถูกคัดลอกและเก็บไว้ ณ
ห้องสมุดแห่งนี้ และพบว่าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชนชาติต่าง ๆ ที่อยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้นได้รับความสนใจจากผู้มาทำการศึกษาค้นคว้ามากที่สุด
บรรณารักษ์คนที่สองของห้องสมุดแห่งนี้ คือ Eratosthenes แห่ง Syene ซึ่งเป็นทั้งนักดาราศาสตร์ ปรัชญาและกวีชาวกรีก
เป็นคนแรกที่สามารถคำนวณเส้นรอบวงของโลกได้ หลังจากที่ Pythagoras ได้ค้นพบว่าโลกเป็นรูปทรงกลมเมื่อ 600 ปีก่อนคริสตกาล
การคำนวณของเขาเริ่มต้นจากการที่เขาได้ทราบการบอกเล่าจากนักเดินทางที่เพิ่งกลับมาจากเมือง
Syene (ปัจจุบันเป็นพื้นที่เหนือเขื่อนอัสวานประเทศอียิปต์)
ว่าแสงแดดในเวลาเที่ยงตรงของวันที่ยาวนานที่สุดในรอบปีที่เมืองนี้คือวันที่ 21
มิถุนายน
จะส่องตรงที่ผิวน้ำในแนวตั้งฉากและผ่านลงไปในน้ำได้ลึกมากที่สุดกว่าวันอื่น
ซึ่งวันดังกล่าวในเมืองอเล็กซานเดรียนั้น
แสงแดดไม่ได้ส่องตั้งฉากกับผิวหน้าน้ำแต่จะทำมุมประมาณ 7 องศา
จากมุมดังกล่าวนี้คือระยะทางระหว่างเมืองทั้งสอง โดยคิดเป็นระยะทางประมาณ 1
ใน 50 ของเส้นรอบวงของโลก ในการคำนวณ Eratosthenes
ถือว่าโลกกับดวงอาทิตย์ห่างกันมากดังนั้นแสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบผิวโลกจะมีลำแสงที่ขนานกัน
ดังนั้นวันที่ลำแสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบในมุมตรงที่เมือง Syene จะไม่เป็นมุมตรงสำหรับเมืองอเล็กซานเดรีย และจากข้อมูลที่เขาได้จากกองคาราวานค้าอูฐพบว่าระยะทางระหว่างเมืองทั้งสองห่างกันประมาณ
785 กิโลเมตร
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้เขาสามารถคำนวณเส้นรอบวงของโลกได้
โดยมีค่าผิดพลาดไปจากค่าที่คำนวณได้ในปัจจุบันเพียง 555 เมตร
และถึงแม้ว่าจะไม่มี Eratosthenes ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียก็นับว่ามีคุณูปการแก่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลอย่างมาก
เนื่องจากที่เมืองนี้เป็นที่ชุมนุมของนักสำรวจ พ่อค้า
ปราชญ์และนักศึกษาซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากประสบการณ์หรือการศึกษาค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลซึ่งกันและกัน
นักวิจัยของห้องสมุดอเล็กซานเดรียได้จัดทำระบบฐานข้อมูลทางดาราศาสตร์
เรขาคณิตและคณิตศาสตร์เพื่อนำมาประกอบกันเป็นเทคนิคที่เรียกว่า celestial
navigation ซึ่งเป็นเทคนิคในการหาตำแหน่งของวัตถุบนผิวโลกโดยอาศัยตำแหน่งของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ที่สังเกตได้
ต่อมานักวิจัยในห้องสมุดนี้ยังได้คิดค้นวิธีการทำแผนที่เดินเรือซึ่งแสดงพื้นที่บนผิวโลกซึ่งเป็นผิวโค้งให้แสดงไว้บนแผ่นกระดาษได้
โดยใช้ระบบละติจูดและลองติจูด ซึ่งเป็นเส้นสมมติที่ใช้แบ่งพื้นผิวโลกออกเป็นส่วน ๆ
และได้แสดงสถานที่สำคัญ ๆ ที่มีข้อมูลว่าได้เดินทางไปหรือค้นพบไว้บนแผนที่นี้
(ภาพที่ 1.2) ผู้ที่นำระบบละติจูดและลองติจูดมาใช้คือ
Hipparchus (165-127 B.C.) และต่อมา Ptolemy (A.D.
90-168) ได้พัฒนาระบบต่าง ๆ ให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น
ภาพที่ 1.2 แผนที่เดินเรือฉบับแรกของโลกที่ใช้ระบบแลดติจูดและลองติจูดบนแผนที่
ที่มา: Garrison (2007)
ที่มา: Garrison (2007)
ห้องสมุดแห่งเอล็กซานเดรียได้ถูกทำลายพร้อม ๆ
กับการเริ่มการล่มสลายของอารยธรรมโรมัน โดยในปี ค.ศ. 415 โดยกลุ่มคนป่าเถื่อนจากทางยุโรปตอนเหนือได้ฆ่าบรรณารักษ์คนสุดท้ายซึ่งเป็นสตรี
และทำการปล้น เผาทำลายเอกสารที่มีคุณค่าที่มีอยู่ในห้องสมุดทั้งหมด
ประมาณกันว่ามีเอกสารที่ถูกทำลายและสูญหายไปมากกกว่า 7 แสนชิ้น
หลังจากการล่มสลายของอารยธรรมโรมันยุโรปก็เข้าสู่ยุคมืด (Dark Age) เป็นเวลาประมาณ 1000 ปี ศิลปวิทยาการ
ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์ ดาราศาสตร์ ปรัชญา
คณิตศาสตร์และอื่นๆก็ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในยุคเรอเนซอง (Renaissance) โดยชาวอาหรับและองค์ความรู้ที่มาจากเอเชีย
ยกตัวอย่างเช่นพ่อค้าชาวอาหรับใช้เข็มทิศซึ่งจีนเป็นชาติแรกที่คิดค้นขึ้นในการเดินทางในทะเลหรือทะเลทราย
และในช่วงเวลาเดียวกัน
ไวกิ้งได้เดินทางไปรุกรานปล้นสะดมทั้งทางด้านใต้ของยุโรปและทางตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก
ที่มา:http://www.agri.kmitl.ac.th/elearning/courseware/aquatic/index.html
ที่มา:http://www.agri.kmitl.ac.th/elearning/courseware/aquatic/index.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น