3.2 ยุคอารยธรรมโบราณของชาวโพลีนีเชียน

3.2 ยุคอารยธรรมโบราณของชาวโพลีนีเชียน
ในประวัติศาสตร์ของการเดินทางเพื่อการอพยพโยกย้ายถิ่นโดยทางทะเล ชนเผ่าที่ที่จัดว่ามีความสามารถที่สุดคือ "ชาวโพลีนีเชียน" (Polynesian) ซึ่งอาศัยอยู่ในเกาะต่าง ๆ ทางตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก สิ่งที่ได้จากการเดินทางเหล่านี้คือความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่สั่งสมและสืบต่อกันมา

โพลีนีเชียเป็นหนึ่งในอารยธรรมเก่าแก่โบราณที่อาศัยอยู่ในเกาะต่าง ๆ กว่าหนึ่งหมื่นเกาะ พื้นที่ประมาณ 26 ล้านตารางกิโลเมตรในมหาสมุทรแปซิฟิก (ภาพที่ 1.3) เดิมชนเผ่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณประเทศอินโดนีเชียปัจจุบัน ต่อมาคนในชนเผ่าได้เดินทางทางทะเลไปทางตะวันออก สาเหตุสำคัญของการอพยพโยกย้ายถิ่นของชาวโพลีนีเชียคือการเพิ่มของจำนวนประชากร ความขัดแย้งทางด้านการเมือง ศาสนา ความเชื่อของคนในกลุ่มเดียวกันเอง กลุ่มที่พ่ายแพ้ก็จำเป็นต้องเดินทางอพยพออกไป

ภาพที่ 1.3 พื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวโพลีนีเชียน เมื่อ 20,000 ปีที่ผ่านมาจนถึง 300-600 ปีก่อนคริสตกาล
ที่มา: Garrison (2007)


ระหว่างปี 300-600 ปีก่อนคริสตกาลชาวโพลีนีเชียนได้ตั้งถิ่นฐานกินพื้นที่เป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่า 
The Polynesian Triangle ขอบเขตทางตะวันออกคือเกาะอีสเตอร์ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ทางด้านตะวันออกสุดของมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนทางเหนือก็คือเกาะฮาวายซึ่งเป็นเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก สิ่งที่ทำให้ชาวโพลีนีเชียนสามารถเดินทางรอนแรมระหว่างเกาะในมหาสมุทรซึ่งมีระยะทางไกลมากนั้นคือความสามารถในการออกแบบเรือซึ่งออกแบบให้มีลำเรือแบบคู่ (dual-hulled sailing ship) บางลำสามารถจุผู้โดยสารได้ถึง 100 คน และยังสามารถบรรทุกสัมภาระได้ปริมาณมากไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำหรือเมล็ดพันธุ์พืช นอกจากนี้ชาวโพลีนีเชียนยังรู้จักสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติมาเป็นประโยชน์ในการเดินเรือ เช่น เส้นทางการเคลื่อนที่และจังหวะของคลื่นที่กระทบตัวเรือ เส้นทางที่นกบินเหนือท้องทะเล ตำแหน่งของดวงดาว กลิ่น อุณหภูมิ ความเค็ม และสีของน้ำทะเล สีของท้องฟ้าขณะดวงอาทิตย์ขึ้นและตกรวมถึงสีและตำแหน่งของดวงจันทร์เป็นต้น

ในจำนวนเกาะต่างๆที่ชาวโพลีนีเชียนเดินทางอพยพย้ายถิ่นนั้น เกาะฮาวายถือว่าเป็นเกาะที่ไกลที่สุด การเดินทางไปยังเกาะฮาวายจากทางซีกโลกใต้ในช่วงเวลานั้นเป็นเรื่องที่เกือบเป็นไปไม่ได้เนื่องจากเกาะแห่งนี้อยู่โดดเดี่ยวกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากเกาะที่อยู่ใกล้ที่สุดทางซีกโลกใต้เกือบ 2000 ไมล์ นอกจากนี้เกาะฮาวายตั้งอยู่ในเขตที่เรียกว่า doldrums ซึ่งมีอากาศร้อนและลมสงบบางครั้งนักเดินทางจำเป็นต้องใช้พาย เชื่อกันว่านักเดินทางชาวโพลีนีเชียนกลุ่มแรกเดินทางถึงเกาะฮาวายระหว่างปี ค.ศ. 450-600 หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการเดินทางระหว่างเกาะต่าง ๆ ทางซีกโลกใต้ถึงฮาวายเป็นประจำ เมื่อเปรียบระหว่างการเดินทางในทะเลของกลุ่มคนในซีกโลกตะวันตกกับชาวโพลีนีเซียนจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมาก โดยขณะกลุ่มนักเดินทางในซีกโลกรู้จักใช้แผนที่เดินเรือประกอบกับความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ในการเดินทางแต่ชาวโพลีเซียนกลับใช้ประสบการณ์ของนักเดินทางรุ่นก่อนที่สั่งสมและบอกต่อ ๆ กันมาระหว่างรุ่นเท่านั้นมาใช้ในการเดินทาง

ที่มา:http://www.agri.kmitl.ac.th/elearning/courseware/aquatic/index.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Kroobannok Education News

สนุก! คอมพิวเตอร์