3.8 โครงการที่ทำการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลในปัจจุบัน

3.8 โครงการที่ทำการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลในปัจจุบัน
การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลหรือสมุทรศาสตร์ในปัจจุบันเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเนื่องจากจำเป็นจะต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายสาขามาประกอบ จึงได้มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาล และสถาบันวิจัยในประเทศต่าง ๆ เพื่อการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งโครงการที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

  • ODP (The Ocean Drilling Program) เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ 20 ประเทศและมีค่าใช้จ่ายประมาณ 50 ล้านเหรียญต่อปีในการสำรวจบริเวณพื้นมหาสมุทรในโครงการ DSDP (Deep Sea Drilling Project) โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาลักษณะของพื้นมหาสมุทร
  • WOCE (The World Circulation Experiments) เป็นโครงการศึกษาเกี่ยวกับภูมิอากาศของโลก ซึ่งจะทำการปรับปรุงเพื่อแบบจำลองของการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทร โดยเป็นการร่วมมือจากนักสมุทรศาสตร์ทางกายภาพจาก 40 ประเทศทั่วโลก จุดประสงค์ในระยะยาวของโครงการนี้คือ การทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจาก ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนเงิน 19 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 1992
  • ATOC (Acoustic Thermography of Ocean Climate) โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ ในการใช้คลื่นเสียงในการจับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทร มีการทดสอบในเบื้องต้นในปี ค.ศ. 1991 โดยการส่งสัญญาณเสียงจากเรือที่บริเวณใกล้กับ Heard Island ในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ สัญญาณดังกล่าว สามารถรับได้ที่บริเวณชายฝั่งทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดเสียงถึง 17,960 กิโลเมตรหรือ 11,160 ไมล์ โดยความเร็วในการเดินทางของเสียงจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ ถ้าโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ จะสามารถบอกได้ถึงลักษณะการกระจายของอุณหภูมิของมวลน้ำทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก และอาจเป็นข้อสนับสนุนในเรื่องของ global warming (การที่อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ) การทดสอบครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 1995
  • JGOFS (Joint Global Ocean Flux Study) เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์นานาชาติในการศึกษากระบวนการทางกายภาพ, เคมี และชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับ วัฏจักรของคาร์บอนในมหาสมุทร เป้าหมายของของการนี้ก็คือเพื่อค้นหาปัจจัยที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของคาร์บอนระหว่างน้ำทะเลกับบรรยากาศและเพื่อให้สามารถทำนายถึงผลตอบสนองระหว่างมหาสมุทรและบรรยากาศของโลกที่มีต่อกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์
  • TOGA (The Tropical Ocean and Global Atmosphere program) เป็นโครงการที่ศึกษาถึงสาเหตุของความแปรผันของอุณหภูมิและการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำในมหาสมุทรบริเวณเขตร้อนซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ El Nino รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการนี้ร่วมกับโครงการ JGOFS เป็นจำนวนเงิน 30 ล้านเหรียญต่อปี
  • GLOBEC (Global Ocean Ecosystem Dynamics) เป็นการศึกษาเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุที่จำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตในทะเลมีการเปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก (global climate change) โดยศึกษาในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในทะเล (biological diversity)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Kroobannok Education News

สนุก! คอมพิวเตอร์