5. Tidal patterns

5. Tidal patterns
ในความเป็นจริงคลื่นน้ำขึ้นน้ำลงที่เกิดขึ้นจะมีความยาวคลื่นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเส้นรอบวงของโลก ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อโลกหมุนไปส่วนของแผ่นดินจะกั้นขวางการเดินทางของคลื่น ผลที่เกิดขึ้นก็คือทำให้รูปแบบของน้ำขึ้นน้ำลงในแต่ละบริเวณจะแตกต่างกันไป นอกจากนี้รูปร่างของแอ่งมหาสมุทรก็จะมีอิทธิพลที่สำคัญต่อรูปแบบและระดับความสูงของน้ำขึ้นน้ำลงที่เกิดขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถจำแนกรูปแบบของน้ำขึ้นน้ำลงที่เกิดขึ้นได้เป็น 3 รูปแบบด้วยกันคือ
1.       น้ำคู่ (semidiurnal tides) หมายถึงจะเกิดน้ำขึ้นน้ำลงสองครั้งต่อวันซึ่งเกือบจะเท่ากันใน lunar day
2.       น้ำเดี่ยว (diurnal tides) น้ำจะขึ้นและลงเพียงครั้งเดียวในรอบวัน lunar day
3.       น้ำผสม (mixed tides) หมายถึงระดับน้ำขึ้นและลงในแต่ละครั้งจะมีความสูงของระดับน้ำแตกต่างกัน (ภาพที่ 9.9)

ภาพที่ 9.9 รูปแบบของการเกิดน้ำขึ้นน้ำลง
ที่มา: Garrison (2007)

ในประเทศไทยรูปแบบของน้ำขึ้นน้ำลงจะมีทั้งสามลักษณะโดย ในภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งติดกับทะเลอันดามันรูปแบบขอบน้ำขึ้นน้ำลงจะเป็นน้ำคู่ ส่วนทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคตะวันออกของประเทศรูปแบบของน้ำขึ้นน้ำลงจะเป็นแบบน้ำเดี่ยว ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนเช่นปากแม่น้ำเจ้าพระยารูปแบบของน้ำขึ้นน้ำลงจะเป็นแบบผสม ถ้าพิจารณาโดยรวมของรูปแบบน้ำขึ้นน้ำลงในมหาสมุทรต่าง ๆ ขอบโลกจะพบว่า มหาสมุทรแปซิฟิกจะมีทั้งสามรูปแบบ ซึ่งจัดเป็นบริเวณที่มีความซับซ้อนในรูปแบบของน้ำขึ้นน้ำลงมากที่สุด ที่บริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ทั้งหมด ชายฝั่งด้านตะวันตกส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้จะมีรูปแบบของน้ำขึ้นน้ำลงเป็นแบบน้ำคู่ ส่วนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางทวีปอเมริกาเหนือและบางส่วนของทวีปอเมริกาใต้จะเป็นแบบผสม (ภาพที่ 9.10)
 

ภาพที่ 9.10 รูปแบบการเกิดน้ำขึ้นน้ำลงในส่วนต่างๆของโลก
ที่มา: Garrison (2007)


มวลน้ำในมหาสมุทรที่เคลื่อนตัวในลักษณะของคลื่นน้ำขึ้นน้ำลงนั้น จะมีแนวโน้มของทิศทางการเคลื่อนที่ไปทางขวาของแอ่งมหาสมุทร โดยในซีกโลกเหนือทิศทางการเคลื่อนตัวจะไปทางขอบของแอ่งมหาสมุทรทางทิศตะวันออก (eastern boundary) และจะมีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางขอบมหาสมุทรด้านตะวันตก (western boundary) ในซีกโลกใต้ เมื่อคลื่นนี้กระทบกับพื้นทวีปยอดของคลื่นน้ำขึ้นน้ำลงนี้ จะเคลื่อนตัวทวนเข็มนาฬิกา รอบ node (the line or point of no wave action in standing pattern) ส่วนของ node ซึ่งจะอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางของแอ่งมหาสมุทรจะเรียกว่า amphidromic point ที่จุดดังกล่าวจะไม่ได้รับอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงโดยจะมีคลื่นน้ำขึ้นน้ำลงเคลื่อนตัวอยู่โดยรอบ และคลื่นน้ำขึ้นน้ำลงนี้จะได้รับอิทธิพลจาก coriolis effect เนื่องจากคลื่นน้ำขึ้นน้ำลงนี้จะพามวลน้ำปริมาณมหาศาลเคลื่อนที่ไป ทิศทางการเคลื่อนตัวของมันถ้าอยู่ในซีกโลกเหนือ จะเคลื่อนตัวทวนเข็มนาฬิการอบ amphidromic point และจะมีทิศทางการเคลื่อนตัวตามเข็มนาฬิกาถ้าอยู่ในซีกโลกใต้ ความสูงของระดับน้ำขึ้นน้ำลงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ห่างจาก amphodromic point ออกมา

ในมหาสมุทรต่าง ๆ ของโลกมี amphidromic point อยู่นับสิบแห่ง มีข้อสังเกตว่าในมหาสมุทรแปซิฟิกจะมีความซับซ้อนและมีจำนวนมากที่สุด ดังนั้นจึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าพื้นทวีปที่ติดต่อกับมหาสมุทรดังกล่าวจะมีรูปแบบของน้ำขึ้นน้ำลงที่ซับซ้อนเพียงใด และลักษณะหรือที่ตั้งของชายฝั่งก็จะเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งในการกำหนดรูปแบบของน้ำขึ้นน้ำลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Kroobannok Education News

สนุก! คอมพิวเตอร์