6. ปรากฏการณ์ El Nino
ตามปกติลมที่พัดในบริเวณตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งอยู่ในเขตร้อนนั้น จะพัดจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก (ภาพที่ 7.7a) ลมสินค้าจะพัดจากบริเวณที่มีความกดอากาศสูงซึ่งก็คือทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (อเมริกากลางและอเมริกาใต้) ไปสู่บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำกว่าคือทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ทางเหนือของทวีปออสเตรเลีย) แต่ในรอบ3-8 ปี จะเกิดความผิดปกติขึ้นโดยที่ยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด ความกดอากาศจะก่อตัวในลักษณะกลับทิศกัน ความกดอากาศสูงจะก่อตัวขึ้นที่บริเวณตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนความกดอากาศต่ำกลับมาก่อตัวขึ้นที่ด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ภาพที่ 7.7b)
ภาพที่ 7.7 การไหลเวียนของมวลอากาศในปีปกติ (a)และปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนิโน (b)
ที่มา: Garrison (2007)
ที่มา: Garrison (2007)
จากความผิดปกติดังกล่าว ทำให้ทิศทางของลมที่พัดในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ในเขตร้อนพัดกลับทิศจากเดิม โดยพัดจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ลมสินค้าที่เกิดขึ้นประจำปีก็จะพัดอ่อนลงหรือกลับทิศทาง การเปลี่ยนแปลงความกดอากาศดังกล่าวเรียกว่า Southern Oscillation
ทุกๆปีลมสินค้าจะพัดพาเอาไอน้ำหรือความชุ่มชื้นปริมาณมหาศาลเคลื่อนที่ไปด้วยตามแนวเส้นศูนย์สูตรทั้งสองด้านพร้อมกับการเคลื่อนตัวของกระแสน้ำ (Equatorial current) เมื่อลมสินค้าพัดอ่อนลง Equatorial current ก็จะหยุดเคลื่อนตัว กระแสน้ำอุ่นที่สะสมอยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกก็เคลื่อนตัวกลับมาทางตะวันออกตามเส้นศูนย์สูตรไปยังอเมริกากลางและอเมริกาใต้ การเคลื่อนตัวของกระแสน้ำอุ่นไปทางตะวันออกจะมาถึงบริเวณใกล้กับชายฝั่งของอเมริกาใต้ในช่วงวันคริสต์มาส จึงให้ชื่อกระแสน้ำดังกล่าวว่า El Nino เป็นภาษาสเปนแปลว่าพระบุตร ซึ่งหมายถึงพระเยซูนั่นเอง ปรากฏการณ์ Southern Oscillation และ El Nino มักเกิดควบคู่กันดังนั้นจึงนิยมเรียกว่า ENSO ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้นแต่มีผลกระทบไปยังมหาสมุทรต่าง ๆ ทั่วโลก ที่อยู่ในเขตที่ลมสินค้าพัดผ่าน
ตามปกติกระแสน้ำเย็นจะนำธาตุอาหารขึ้นมาบนผิวน้ำโดยมาจากทางเหนือและทางตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ เมื่อเกิดปรากฏการณ์ ENSO กระแสน้ำอุ่นที่ไหลกลับมาก็จะมาพบกับกระแสน้ำเย็นดังกล่าวทำให้เกิดผลผลิตทางชีวภาพสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวชุกชุมบริเวณนอกชายฝั่งของประเทศเปรูและชิลี
ระหว่างการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวพบว่าระดับน้ำทะเลทางตะวันออกของ มหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้นมาก เช่นที่เกาะ Galapagos ระดับน้ำสูงกว่าระดับน้ำทะเลปกติถึง 20 เซนติเมตร อุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 7 องศาเซลเซียส จึงทำให้น้ำระเหยขึ้นมากก่อให้เกิดความกดอากาศต่ำมีการสะสมของไอน้ำอย่างมหาศาล จุดศูนย์กลางของความชื้นจะอยู่ห่างจากชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศเปรูประมาณ 2,000 กิโลเมตรทำให้เกิดฝนตกหนัก รวมถึงพายุทั้งที่เดิมบริเวณนี้เป็นเขตแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งที่อาศัยบนบกและในทะเล ในขณะที่ด้านตรงข้ามคือทางตะวันออกมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดความแห้งแล้ง
ENSO ที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1983 ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่อยู่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศออสเตรเลียซึ่งเกิดภาวะฝนแล้งทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย คิดเป็นมูลค่าถึง 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศเปรูและเอกวาดอร์ประสบกับภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วม ระดับน้ำทะเลบางบริเวณสูงกว่าระดับน้ำทะเลปกติถึง 10 เซนติเมตร สองปีต่อมาอุณหภูมิของน้ำบริเวณชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกายังสูงผิดปกติ และพบสิ่งมีชีวิตชนิดแปลกที่ไม่เคยพบในภาวะปกติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น